แผนการสอน
รายวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย
บทที่ 5 เรื่องการจัดการขยะมูลฝอย
หัวข้อ
5.1 นิยามและความหมาย
5.2 ความจำเป็นในการกำจัดขยะมูลฝอย
5.3 แหล่งกำเนิดของมูลฝอย
5.4 ชนิดของมูลฝอย
5.5 ปริมาณของขยะมูลฝอย
5.6 หลักเกณฑ์ในการจัดการมูลฝอย
5.7 วิธีการกำจัดขยะมูลฝอย
5.8
หลักการที่ใช้ในการพิจารณาเลือกวิธีการกำจัดขยะมูลฝอย
5.9 กิจกรรม
5.10
แบบฝึกหัดประจำบทที่ 5
5.1
แนวคิดและหลักการ
ปัญหาขยะมูลฝอยนั้น
จะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของประชากร ถ้าหากไม่มีการกำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว
ความสกปรกต่าง ๆ ที่เกิดจากขยะมูลฝอย
จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ขยะมูลฝอยนั้นมีผลกระทบต่อมนุษย์
ทั้งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อมนุษย์ และขยะมูลฝอยก่อให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก
เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายอันเกิดจากปัญหาขยะ ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันแก้ปัญหาและจัดการให้ปัญหาหมดสิ้นไป
5.2
จำนวนชั่วโมงเรียน ภาคบรรยาย 2 ชั่วโมง
5.3
จุดประสงค์การเรียนรู้
เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ในปัญหาของมูลฝอยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
วิวัฒนาการของการจัดการมูลฝอย นโยบาย และ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักเกณฑ์ในการจัดการมูลฝอยในแง่ของแหล่งกำเนิดต่าง
ๆ ชนิดองค์ประกอบ และลักษณะสมบัติของมูลฝอย การคาดการณ์ปริมาณมูลฝอย เทคโนโลยีการนำมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ (Recycling) การเก็บรวบรวม เก็บขน ขนส่ง และวิธี/เทคโนโลยีการกำจัดต่าง
ๆ เช่น การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การหมักทำปุ๋ย การใช้เตาเผา การจัดการกากของเสียอันตราย
และการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ และ การวางแผนการจัดการมูลฝอย
5.4
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
เมื่อเรียนวิชานี้แล้ว
นักศึกษามีความรู้ ความสามารถและทักษะ ดังนี้
1. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจหลักการในการจัดการมูลฝอย
และ การประเมินสภาพปัญหาที่เกิดจากมูลฝอยได้อย่างถูกต้อง
2. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับชนิด
และองค์ประกอบของมูลฝอยจากแหล่งต่างๆได้อย่างชัดเจน
3. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจกระบวนการดำเนินการจัดการมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพได้อย่างถูกต้อง
4. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจระบบ
/ เทคโนโลยีที่ใช้ในการกำจัดมูลฝอยได้อย่างถูกต้อง
5. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้
ความเข้าใจในการจัดการของเสีย และ มูลฝอยอันตรายได้อย่างถูกต้อง
5.5
เนื้อหาสาระ
ภาคบรรยาย
ทำการสอนในห้องเรียนแบบบรรยาย 2 ชั่วโมง หัวข้อที่
1. บทนำ วิวัฒนาการของการจัดการมูลฝอย
และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ หลักเกณฑ์ในการจัดการมูลฝอย
2.แหล่งกำเนิด องค์ประกอบ
ลักษณะสมบัติของมูลฝอยและการตรวจวิเคราะห์
3.กลไกการเกิด และ การคาดการณ์ปริมาณมูลฝอย
4.การคัดแยกมูลฝอย และ การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
5.การเก็บรวบรวม การเก็บขน
และสถานีขนถ่ายมูลฝอย
6.การหมักทำปุ๋ย เทคโนโลยีเตาเผามูลฝอย
การฝังกลบมูลฝอยแบบถูกหลักสุขาภิบาล การจัดการมูลฝอยอันตรายจากชุมชน การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ
7.การวางแผนการจัดการมูลฝอย
กรณีศึกษาการจัดการมูลฝอยในท้องถิ่นและกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ภาคปฏิบัติ
นักศึกษานำภาพข่าวที่ได้รับการตีพิมพ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม
5.6
กิจกรรมการเรียนการสอน
1.ขั้นนำ 10 นาที
- ทักทายนักศึกษาพร้อมทั้งแนะนำตนเอง
-
ชี้แจงหัวข้อในการบรรยายและบอกวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอน
-
นำเข้าสู่บทเรียนโดยผู้สอนกล่าวถึงความสำคัญการจัดการขยะมูลฝอย
-
ผู้สอนเชื่องโยงคำตอบของผู้เรียนเข้าสู่บทเรียนในเรื่องการการกำจัดขยะ
2. ขั้นสอน 40 นาที :ใช้วิธีการบรรยายแบบมีส่วนร่วม
2.1ผู้สอน อธิบายความหมายของขยะมูลฝอย ขยะมูลฝอยหมายถึง เศษกระดาษ
เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ หรือซากสัตว์
รวมตลอดถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์หรือที่อื่น
2.2
ผู้สอนสอบถามนักศึกษาในชั้นเรียนเรื่องผลกระทบของขยะมูลฝอยที่มีต่อชุมชนมีอะไรบ้าง
2.3
ผู้สอนบรรยายเรื่องของผลกระทบต่อชุมชนของขยะมูลฝอยให้นักศึกษาฟัง
2.4
ผู้สอนบรรยายเรื่องของชนิดมูลฝอยแยกตามชนิดและแหล่งกำเนิด
2.5
ผู้สอนสุ่มถามนักศึกษา จำนวน 2 คน
สุ่มตามเลขที่ โดยถามว่า ชนิดมูลฝอยแยกตามชนิดและแหล่งกำเนิด มีอะไรบ้าง
2.6 ผู้สอนบรรยายเกี่ยวกับองค์ประกอบที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขยะมูลฝอย
2.7
ผู้สอนสุ่มถามนักศึกษา ว่า เพราะเหตุใด
หรือปัจจัยใดที่ส่งผลต่อปริมาณขยะในแต่ละท้องที่
2.8 ผู้สอนบรรยายเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของขยะมูลฝอย
2.9 ผู้สอนสุ่มถามนักศึกษา ว่า การกำจัดขยะทำอย่างไรบ้าง
2.10 ผู้สอนบรรยายเกี่ยวกับการกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ
2.11ผู้สอนถามคำถามนักศึกษา ว่า
หากการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบอย่างไรได้บ้าง
2.12 ผู้สอนบรรยายเกี่ยวกับการกำจัดขยะมูลฝอยที่ใช้อยู่กันในปัจจุบัน
2.13
ผู้สอนถามคำถามผู้เรียน ว่า
ข้อดีและข้อเสียของการกำจัดขยะมูลฝอยในแต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร
2.14
ผู้สอนอธิบายเพิ่มเติม ว่า
การกำจัดขยะมูลฝอยมีหลายวิธีขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา
2.15
ผู้สอนบรรยายเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาของขยะมูลฝอย
ตามบทบาทของเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุขให้นักศึกษา
2.16
ผู้สอนอธิบายเพิ่มเติม ว่าการแก้ไข
ตามบทบาทของเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุขมีหลากหลายวิธีขึ้นกับบริบทของแต่ละพื้นที่
ซึ่งเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุขจะต้องเป็นผู้คิดวิเคราะห์
หาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไข และต้องมาจากความร่วมมือของชุมชน
เพื่อการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน
3. ขั้นสรุป 10 นาที
-
ผู้สอนให้นักศึกษาช่วยกันสรุปสาระสำคัญของบทบาทของเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุขในเรื่องของการกำจัดขยะในชุมชน สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการเรียนการสอนครั้งนี้
-
ผู้สอนสรุปบทเรียนและเปิดโอกาสให้นักศึกษาซักถามเพิ่มเติม
ผู้สอนตอบคำถาม ผู้สอนสรุปจบบทเรียน
5.7
สื่อการเรียนการสอน
แผ่นสไลด์บรรยาย (power point)
เอกสารประกอบการสอน เอกสารประกอบการสอน
ประกอบด้วยรูปภาพและตารางประกอบคำบรรยาย
5.8
การวัดผลและประเมินผล
-
สอบเตรียมความพร้อมก่อน-หลังเรียนประจำสัปดาห์
- สรุปเนื้อหาที่เรียน/ใบงาน/ความรู้ที่ได้รับลงสมุดบันทึกท้ายชั่วโมงบรรยาย
- การเข้าชั้นเรียน/การส่งใบงานตามเวลากำหนด
-
สอบข้อเขียนกลางภาค
- สอบข้อเขียนปลายภาค
บทที่
5 การจัดการมูลฝอย
หัวข้อ
5.1 นิยามและความหมาย
5.2 ความจำเป็นในการกำจัดขยะมูลฝอย
5.3 แหล่งกำเนิดของมูลฝอย
5.4 ชนิดของมูลฝอย
5.5 ปริมาณของขยะมูลฝอย
5.6 หลักเกณฑ์ในการจัดการมูลฝอย
5.7 วิธีการกำจัดขยะมูลฝอย
5.8 หลักการที่ใช้ในการพิจารณาเลือกวิธีการกำจัดขยะมูลฝอย
5.9
กิจกรรม
5.10 แบบฝึกหัดประจำบทที่
5
มูลฝอย หมายถึง เศษกระดาษ เศษผ้า
เศษอาหาร เศษสินค้า ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ หรือซากสัตว์ รวมตลอดถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน
ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์หรือที่อื่น
การจัดการมูลฝอย หมายถึง หลักการในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการทิ้งขยะมูลฝอย
การเก็บกัก การรวบรวมมูลฝอย การขนถ่าย และการขนส่ง การแปรงรูปเพื่อการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอย
และการกำจัดมูลฝอย โดยจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดในทางสุขอนามัย ทัศนียภาพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
และการยอมรับทางสังคม
5.2
ความจำเป็นในการกำจัดขยะมูลฝอย
ขยะมูลฝอยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการใช้แล้ว
จากบ้านเรือน สถานที่ประกอบการ รวมถึงสถานที่สาธารณะ มีทั้งที่ไม่เน่าเปื่อยและเน่าเปื่อยได้
ซึ่งปริมาณของมูลฝอยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากมนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้นทั้งสิ้น
และขยะนั้นก็จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ ลักษณะของชุมชน ฤดูกาล และความสะดวกในการเก็บขนขยะมูลฝอย
ซึ่งมูลฝอยเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคต่าง ๆ
- เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของพาหะนำโรค เช่น แมลงวัน แมลงสาบ หนู เป็นต้น
- เกิดกลิ่นเหม็นและสภาพน่ารังเกียจ
- เกิดเป็นเหตุรำคาญแก่บริเวณใกล้เคียง
- เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น
กระดาษติดไฟได้ง่าย
จากผลกระทบดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำจัดมูลฝอยให้หมดไป
ถ้าไม่มี การดำเนินการจัดการที่ถูกต้อง ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้นอย่างแน่นอน
5.3
แหล่งกำเนิดของมูลฝอย
1)
ของเสียจากอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตแล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำโดยไม่มีการบำบัด
2)
ของเสียจากโรงพยาบาล และสถานที่วิจัย โดยส่วนมากแล้วจะเป็นมูลฝอยประเภทติดเชื้อ
สารเคมี กัมมันตภาพรังสี เป็นต้น
3)
ของเสียจากเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย มูลสัตว์ น้ำทิ้งจากการทำปศุสัตว์ เป็นต้น
4) ของเสียจากบ้านเรือน และชุมชน
เช่น น้ำจากการล้างภาชนะ การซักผ้า
จากเศษอาหาร
5)
ของเสียจากสถานประกอบการในเมือง เช่น จากภัตตาคาร ตลาดสด วัด
เป็นต้น
5.4
ชนิดของมูลฝอย
5.4.1 จำแนก ตามความสามารถในการเผาไหม้
และความเป็นพิษ จำแนกประเภทมูลฝอยได้ดังนี้
1)
ขยะมูลฝอยที่เผาไหม้ได้ เช่น เศษไม้ กระดาษ พลาสติก ผ้า เป็นต้น
2)
ขยะมูลฝอยที่เผาไหม้ไม่ได้ เช่น เศษแก้ว โลหะ เหล็ก กระเบื้อง
เป็นต้น
3)
ขยะมูลฝอยที่ไม่เป็นพิษหรือขยะมูลฝอยทั่วไป ได้แก่ขยะมูลฝอยจากอาคารบ้านเรือน
ร้านค้า เช่น กระดาษ พลาสติก เศษอาหาร เป็นต้น
4)
ขยะมูลฝอยที่เป็นพิษ เช่น ซากถ่านไฟฉาย ซากแบตเตอรี่ กากสารเคมี
เป็นต้น
5.4.2 จำแนกตาม ลักษณะของส่วนประกอบของขยะมูลฝอย
มีประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1)
กระดาษ ถุงกระดาษ กล่อง ลัง
2)
พลาสติก มีความทนทานต่อการทำลายสูง วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถุงพลาสติก
เช่น ถุงภาชนะของเด็กเล่น ของใช้
3)
แก้ว วัสดุที่ทำจากแก้ว
4)
เศษอาหาร ผัก ผลไม้
5)
ผ้าสิ่งทอต่าง ๆ ที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ หรือจากการสังเคราะห์
6)
ยางและหนัง
7)
ไม้ เศษเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้
8)
หิน กระเบื้อง กระดูก และเปลือกหอย
9)
โลหะต่าง ๆ เช่น กระป๋อง ลวด สายไฟ ตะปู
10)
อื่นๆ ที่ไม่อาจจัดกลุ่มได้
ถ้าแบ่งประเภทขยะตาม แหล่งที่มา
มีประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1)
ขยะมูลฝอยจากถนน
2)
ขยะมูลฝอยที่เหลือจากการเผาไหม้ที่เรียกว่า ขี้เถ้า
3)
ขยะมูลฝอยจากการก่อสร้าง
4)
ขยะมูลฝอยจากการรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง
5)
ซากสัตว์
6)
ซากยานพาหนะ
7)
ขยะมูลฝอยจากโรงงานอุตสาหกรรม
8)
ขยะมูลฝอยประเภทที่ทำลายยาก เช่น พลาสติก
9)
ขยะสด
10)
ขยะแห้ง
11) ขยะพิเศษ
12) ของใช้ชำรุด
13) ขยะจากการกสิกรรม
14) กากตะกอนของน้ำโสโครก
ประเภทของขยะมูลฝอย ตามที่สาธารณะทั่วไปมี 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1)
มูลฝอยเปียก
หมายถึง มูลฝอยที่ประกอบด้วยสารอินทรีย์และความชื้นค่อนข้างสูง
ได้แก่ เศษอาหาร เศษผัก เศษเนื้อ เศษผลไม้ อาหารเหลือทิ้งมูลฝอยประเภทนี้ทำให้เกิดการย่อยสลายได้ อย่างรวดเร็ว ส่วนมากมาจากบ้านเรือน
โรงอาหาร ภัตตาคาร ตลาด ฯลฯ มูลฝอยประเภทเปียกเป็นตัวการสำคัญให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน
แหล่งอาหารของสัตว์นำโรค และแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค
2)
มูลฝอยแห้ง หมายถึง เศษวัสดุต่าง ๆ ที่เหลือใช้จากบ้านเรือนและแหล่งธุรกิจ และไม่ใช่ขยะสดหรือเถ้าถ่าน
ได้แก่ เศษยาง เศษรองเท้า กระดาษ ภาชนะแตก ขยะนี้มีความชื้นในตัวต่ำและย่อยสลาย ได้ช้า
จึงไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น แต่ถ้ามีการสะสมมากและอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ทำให้เกะกะรกรุงรังเป็นที่อยู่ของสัตว์นำโรค
เป็นเชื้อเพลิง และไปอุดตันท่อหรือรางระบายน้ำได้ แบ่งได้ 2 ชนิด
คือ
- ชนิดที่สามารถไหม้เป็นเถ้าถ่านได้
ได้แก่ เศษไม้ เศษหญ้า กระดาษ
- ชนิดที่ไม่มาสามารถไหม้เป็นเถ้าถ่านได้ด้วยการเผาไหม้ธรรมดา
ได้แก่ เศษโลหะ เศษแก้ว
เศษกระป๋อง เสาคอนกรีต เป็นต้น
3)
มูลฝอยอันตราย
หมายถึง มูลฝอยที่มีลักษณะเป็นพิษก่อให้เกิดอันตราย เมื่อไม่มีการนำไปกำจัด
หรือก่อให้เกิดความยุ่งยากในการเก็บขนและกำจัด เช่น กระป๋องทินเนอร์ สารฆ่าแมลง ถ่ายไฟฉาย
แบตเตอรี่รถยนต์ ฯลฯ มูลฝอยหรือของเสียอันตรายเหล่านี้บางชนิดต้องระวังเป็นพิเศษเพราะมีลักษณะเป็นมูลฝอยติดเชื้อที่มีอันตรายสูง
5.5
ปริมาณของขยะมูลฝอย
ปริมาณมูลฝอยนั้นย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง
ๆ ดังต่อไปนี้
1)
ลักษณะของชุมชน ถ้าเป็นชุมชนย่านการค้าก็จะมีปริมาณขยะมากกว่าชุมชนอื่น
2)
ความหนาแน่นของประชากร เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าถ้าจำนวนประชากรมากก็จะ
ทำให้มีปริมาณขยะมากด้วยเช่นกัน
3)
ฤดูกาล ฤดูกาลมีผลต่อปริมาณขยะมาก เช่น ฤดูผลไม้ ปริมาณขยะก็จะมีมาก
โดยเฉพาะพวกเปลือกผลไม้ที่เหลือจากการบริโภค เป็นต้น
4)
สภาวะทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดีก็จะส่งผลให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นด้วย
5)
อุปนิสัยของประชาชนในชุมชน
6)
การจัดบริการการเก็บขนขยะมูลฝอย และความสะดวกในการเก็บขนขยะมูลฝอย
5.6
หลักเกณฑ์ในการจัดการมูลฝอย
1)
การคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด เป็นการจำแนกประเภทของมูลฝอยที่ทิ้งโดยผู้ผลิตมูลฝอย
ณ แหล่งกำเนิด
2)
การเก็บรวบรวมมูลฝอย คือการเก็บกักมูลฝอยใส่ภาชนะ รวมถึงการรวบรวมมูลฝอยจากแหล่งต่าง
ๆ แล้วนำไปใส่ยานพาหนะเพื่อขนส่งไปกำจัด หรือนำไปทำประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป
3)
การเก็บขน และขนส่งมูลฝอย เป็นการนำมูลฝอยที่เก็บรวบรวมจากชุมชนบรรทุกใส่ยานพาหนะไว้แล้วขนส่งไปยังสถานที่กำจัด
หรือทำประโยชน์อย่างอื่น
4)
การแปรสภาพมูลฝอย เป็นการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะ หรือองค์ประกอบทางกายภาพ
เคมี และชีวภาพของขยะมูลฝอยเพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการขนส่ง การนำกลับไปใช้ประโยชน์
การเก็บรวบรวม การกำจัด หรือการลดปริมาตร
5)
การกำจัด หรือทำลาย เป็นวิธีการกำจัดมูลฝอยขั้นสุดท้าย เพื่อให้มูลฝอยนั้น
ๆ ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสภาพแวดล้อม
อันอาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์ต่อไป ซึ่งวิธีการกำจัดมูลฝอยได้แก่ การทำปุ๋ย การเผาด้วยเตา
และการฝังกลบแบบสุขาภิบาล
5.6
วิธีการกำจัดขยะมูลฝอย
การจัดการมูลฝอยนั้นสามารถกระทำได้หลายวิธี
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ หลายด้าน การเลือกใช้วิธีการแบบไหนก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย
ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว วิธีการจัดการมูลฝอยที่สำคัญ ๆ มี 5 วิธี ดังนี้
1) การถม (Dumping)
หมายถึงการที่เรานำขยะมูลฝอยไปถมหรือทิ้งไว้ตามสถานที่ต่าง
ๆ โดยปล่อยให้เน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติวิธีนี้อาจแบ่งได้ 2 วิธี คือ
1.1) ถมบนพื้นดิน คือการถมมูลฝอยไว้บนพื้นดินโดยถมในพื้นที่ที่ต่ำหรือที่ลุ่ม เพื่อต้องการให้ที่นั้นสูงขึ้น
เหมาะกับมูลฝอยประเภท เกษตรกรรม อิฐหัก พวกใบไม้ กิ่งไม้ เป็นต้น ข้อดีของการถมบนพื้นดิน คือ เหมาะกับการกำจัดมูลฝอยในชนบท
ไม่ทำลายทรัพยากร ไม่ต้องใช้ความรู้มากในการกำจัด เป็นต้น ส่วนข้อเสีย คือ ไม่สามารถใช้กำจัดมูลฝอยได้ทุกประเภท
อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้ เป็นต้น
1.2)
ทิ้งทะเล คือการนำเอาขยะไปทิ้งทะเล ซึ่งก็มีข้อดีคือไม่ต้องเสียงบประมาณ ในการใช้ที่ดิน ไม่ต้องแยกประเภทของขยะมูลฝอย
ข้อเสียคือ มูลฝอยที่ลอยน้ำได้อาจพัดเข้าหาฝั่งได้ ขยะมูลฝอยเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ
เป็นต้น
2) การฝัง
(Burial)
-การฝังโดยทั่วไป หมายถึงการนำเอาขยะมูลฝอยไปฝังในดิน วิธีนี้เหมาะที่จะใช้ในชนบทเพราะมีพื้นที่มากและอาจนำเอามูลฝอยไปใช้ประโยชน์ได้
เช่น ทำปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งการฝังแบบนี้มีวิธีในการดำเนินงานคือ ขุดหลุมสี่เหลี่ยมกว้างด้านละประมาณ
0.5-1 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร แล้วนำดินที่ขุดได้กองไว้ปากหลุม
เมื่อมีขยะมูลฝอยก็เทเกลี่ยให้กระจายทั่วหลุม จากนั้นนำดินที่ ปากหลุมเกลี่ยลงทับขยะประมาณ
10 เซนติเมตร กระแทกดินให้แน่นพอสมควร ชั้นต่อไปก็ ทำเช่นเดียวกันจนเต็มหลุม
ชั้นบนสุดควรจะอัดแน่นและให้มีความหนาประมาณ 1 ฟุตหรือ
30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันสัตว์เขี่ย ข้อดี ของการฝังคือ สามารถฝังขยะได้ทุกประเภท
ถ้ากำจัดดี ๆ จะไม่มีกลิ่นรบกวน ข้อเสียคือ ต้องมีพื้นที่พอสมควรในการฝัง
มีข้อจำกัดในเรื่องน้ำท่วม เป็นต้น
- การฝังอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การฝังแบบนี้คล้ายกับการฝังแบบธรรมดา แต่ต่าง กันตรงที่ต้องมีการบดอัดขยะมูลฝอยเพื่อให้ยุบตัวแน่นและมีการเอาดินกลบชั้นบน
ซึ่งมีการบดอัด อีกครั้งหนึ่ง
เหมาะกับชุมชนเมืองเพราะใช้กับพื้นที่ที่ต้องมีปริมาณขยะมาก ๆ โดยมีวิธีทำ 4 ขั้นตอนดังนี้
1. ขุดดินทำเป็นร่อง ให้ขุดร่องให้เพียงพอกับที่ทิ้งขยะในแต่ละวัน
และความลึก จะไม่มีการกำหนดที่แน่นอนจะขึ้นอยู่กับว่าปริมาณขยะนั้นมีมากน้อยเพียงใด
2. เทขยะมูลฝอยลงร่องที่ขุดไว้
เมื่อเทขยะลงร่องเรียบร้อยแล้ว ก็กวาดขยะให้มี ความลาดเอียงประมาณ 45 องศา เพื่อความสะดวกแก่รถอัดที่จะทำงานช่วงต่อไป
3. บดอัดขยะมูลฝอย เมื่อกวาดให้ลาดเอียงตามข้อ 2 แล้ว รถบดอัดก็จะทำการบดอัดขยะ
4. ปิดขยะมูลฝอยด้วยดิน เมื่อขยะมูลฝอยถูกบดอัดแน่นดีแล้ว
ก็เกลี่ยดินกลบแล้วใช้รถบดกดทับอีกเพื่อให้แน่น ความหนาของชั้นระหว่างขยะมูลฝอยที่กั้นวันต่อวัน
ความหนาควรไม่น้อยกว่า 6 นิ้ว แต่ถ้าเป็นชั้นบนสุดต้องไม่น้อยกว่า
2 ฟุต
ข้อดี คือ เหมาะที่จะใช้กับชุมชนที่ไม่แออัด สามารถกำจัดมูลฝอยได้เกือบทุกประเภท
ยกเว้น ยางรถยนต์ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการแยกขยะมูลฝอย
ข้อเสีย คือ เป็นวิธีที่ใช้อุปกรณ์ราคาแพง
ไม่สามารถปลูกสิ่งก่อสร้างที่ รับน้ำหนักมาก ๆ ได้
3) การเผา
(Burning)
การเผากลางแจ้ง หมายถึงการนำเอาขยะมาเผาในที่กลางแจ้งบนพื้นดิน
โดยไม่ต้องมีเตาเผา
ข้อดี คือ ใช้ได้ดีกับหมู่บ้านในชนบท ควันไฟใช้ประโยชน์ได้ เช่น
ไล่แมลง นอกจากนี้ก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก เป็นต้น
ข้อเสีย คือ อาจเกิดไฟไหม้ได้ ขยะเมื่อเผาอาจส่งกลิ่นเหม็นได้
และถ้าไม่มีการนำ ผงเถ้าเมื่อเผาไหม้เสร็จแล้วไปทิ้ง ก็จะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายได้
- การเผาด้วยเตาเผาขยะมูลฝอย
ในการเผาในเตาเผาจำเป็นที่จะต้องมีการแยกประเภทของขยะที่ไม่ไหม้ออกก่อน เพราะถ้ามีมูลฝอยที่ไม่ไหม้ไฟอยู่ในเตาเผาก็อาจจะเกิดการ
อุดตันได้
ข้อดี คือ ใช้เนื้อที่ในการกำจัดน้อย อาจนำความร้อนที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้
และ เป็นวิธีที่เหมาะกับชุมชนเมือง เพราะเป็นวิธีกำจัดที่มิดชิดไม่ฟุ้งกระจาย เป็นต้น
ข้อเสีย คือ ค่าก่อสร้างค่อนข้างสูง
เปลืองค่าใช้จ่ายในการแยกประเภทขยะมูลฝอย และไม่เหมาะในการเผาตอนฝนตก เป็นต้น
4) การหมักขยะมูลฝอยทำปุ๋ย
(Composting)
หมายถึง การนำเอาขยะมูลฝอยพวกที่ย่อยสลายได้มาหมักทำปุ๋ยในสภาวะที่มีออกซิเจน
ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. การแยกขยะมูลฝอย ซึ่งจะแยกเอาแต่มูลฝอยที่สามารถย่อยสลายได้
2. สับขยะมูลฝอยให้เป็นชิ้นเล็ก
ๆ ขนาดไม่ควรเกิน 2 นิ้ว
3. คลุกเคล้าขยะมูลฝอยให้เข้ากัน
4. การหมัก เมื่อขยะมูลฝอยคลุกเคล้ากันได้ดีแล้ว
ก็นำไปหมัก โดยอาจกองบนพื้นหรือหลุม ตื้น ๆ และกองสูงไม่น้อยกว่า 3 ฟุต แต่ไม่ควรเกิน 6 ฟุต อุณหภูมิที่เหมะสมควรอยู่ระหว่าง
122-158 องศาฟาเรนไฮต์ ระยะเวลาที่หมักประมาณ 15-21 วัน แต่ทุก ๆ ช่วง 2-3 วัน ต้องมีการ กลับขยะมูลฝอยสักครั้งหนึ่ง
เมื่อครบกำหนดก็จะได้ปุ๋ยหมักตามที่ต้องการ
ข้อดี คือ สามารถลดปริมาณขยะลงได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากมูลฝอย
ได้อีกด้วยกระบวนการหมักไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ข้อเสีย คือ ปุ๋ยที่ได้อาจมีคุณภาพต่ำกว่าปุ๋ยเคมี
5) การนำกลับมาใช้ใหม่
(recycling)
หมายถึง การนำเอาขยะมูลฝอยที่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งมูลฝอยที่นำมา Recycle ได้แก่
- กระดาษ เช่น การนำกระดาษเก่ากลับมาใช้
การทำกระดาษสา เป็นต้น
- พลาสติก ได้แก่ การนำมาขึ้นรูปใหม่
เช่น เป็นแจกัน ถังขยะ
เป็นต้น
- อลูมิเนียม เช่น
กระป๋องอลูมิเนียมเก่าสามารถที่จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- แก้ว แก้วก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่สามารถหลอมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ข้อดี คือ สามารถลดขยะในสิ่งแวดล้อมได้ ลดต้นทุนในการผลิตได้
เป็นต้น
ข้อเสีย คือ วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่บางชนิด อาจมีการปนเปื้อนของสารพิษอยู่
5.7
หลักการที่ใช้ในการพิจารณาเลือกวิธีการกำจัดขยะมูลฝอย
1)
ลักษณะและปริมาณของขยะมูลฝอย วิธีการกำจัดมูลฝอยแต่ละวิธีอาจใช้ได้กับลักษณะมูลฝอยอีกอย่างหนึ่ง
เช่น ขยะมูลฝอยที่เผาได้ก็เหมาะกับขยะที่ต้องนำมาเผา เป็นต้น
2)
สถานที่ การเลือกวิธีที่จะกำจัดขยะมูลฝอยควรคำนึงถึงสถานที่ด้วย
เช่น ถ้าเลือก ธีเผากลางแจ้ง ก็ควรคำนึงด้วยว่ากลิ่นหรือควันจากการเผาไหม้มันจะรบกวนประชาชนหรือไม่ เป็นต้น
3)
ค่าใช้จ่ายในการลงทุน ในการกำจัดขยะมูลฝอยเราต้องคำนึงถึงราคาด้วยว่ามันเหมาะสมหรือคุ้มทุนหรือไม่
4)
ค่าใช้จ่ายในกระบวนการกำจัด เช่นค่าใช้จ่ายในการซื้อรถบดอัด ในการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล
5)
การนำผลผลิตจากการกำจัดขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์ เช่นถ้าต้องการพลังงานความร้อนก็ควรเลือกวิธีเผาด้วยเตาเผาขยะ
6)
ผลกระทบของการกำจัดขยะมูลฝอยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย ซึ่งถือเป็น สิ่งที่สำคัญมาก เพราะในการที่จะกำจัดขยะมูลฝอยต้องคำนึงถึงผลกระทบเป็นอันดับแรก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย
บรรณานุกรม
กองวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.
วิธีการแยกขยะ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.crma.ac.th/medept/komi/komibun.htmโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.
การเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=15&chap=8&page=t15-8-infodetail05.html. จุฑานพ มะโน. การแยกขยะ.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://arts.kmutt.ac.th/ssc210/Group%20Project/ASSC210/2.48%20anurak%20forest/recyclekaya.html
บริษัทแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์จำกัด(มหาชน). การคัดแยกขยะมูลฝอย. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : http://www.lpn.co.th/th/press/viewitem.aspx?nid=12.
บริษัทแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์จำกัด(มหาชน). สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอย. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : http://www.lpn.co.th/th/press/viewitem.aspx?nid=10.
ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร. แหล่งกำเนิดขยะ. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : http://www.chaiwbi.com/0drem/web_children/2551/ms201/c_camp51/200.html. สมฤดี ม่วงชม.
การทำปุ๋ยหมัก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.biogang.net/expert_view.php?menu=expert&uid=32519&id=6013.
(วันที่ค้นข้อมูล : 10 ธันวาคม 2557).
สลักจิต พุกจรุญ. แหล่งกำเนิดขยะมูลฝอย. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : https://sites.google.com/site/kayamulfoi/hnwy-thi-2-haelng-kaneid-prapheth-laea-swn-prakxb-khxng-khya-mulfxy. องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี. ประเภทของขยะ.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.promma.ac.th/main/local_education/unit8/p3_1.html..htm. ปริมนภา จงจิตรกลาง. สาเหตุและผลกระทบของมลพิษทางขยะ. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : http://www.rmuti.ac.th/user/thanyaphak/Web%20EMR/Web%20IS%20Environmen%20gr.4/Mola4.html
5.8กิจกรรมการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน
กิจกรรมที่
1การจัดการขยะติดเชื้อ
1.ให้นักศึกษาเขียนร่างข้อเสนอ
เพื่อหารือแนวทางกำจัดขยะติดเชื้อกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดย มีหลักการวัตถุประสงค์และแนวทางการจัดการ
การเก็บรวบรวม คัดแยก การมีส่วนร่วม และการประเมิน
2.จงสังเกตุการเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อของวิทยาลัยฯ
แล้วจดลำดับขั้นตอนปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เก็บขน
โดยเรียงลำดับการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง
และมีวิธีการที่สามารถปฏิบัติได้ พร้อมกับตารางประจำวัน
3.ให้น.ศ.สัมภาษณ์คนงานประจำหน่วยรถขนขยะขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับ
วิธีปฏิบัติในการเก็บขยะติดเชื้อ
และสถานที่นำไปกำจัด
กิจกรรมที่
2การฝึกการจัดการขยะทั่วไป
1.ให้นักศึกษาประมาณการจำนวนขยะที่บุคลากรและนักศึกษาของวิทยาลัยฯที่นำมาทิ้ง
ณ บริเวณที่พักขยะในแต่ละวัน และปริมาณขยะแต่ละวันที่สถานพยาบาลนำมาทิ้ง
2. จงระบุประเด็นที่ควรมีในหนังสือราชการที่ควรแจ้งกับฝ่ายบริหารของวิทยาลัยฯเพื่อแจ้งปัญหาและอุปสรรคของการจัดการขยะของวิทยาลัยฯควรมีการปรับปรุงในประเด็นใดบ้าง
5.9แบบฝึกหัดท้ายบทที่ 5
1.จงบอกวิธีการจัดการกับปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาขยะตามทุ่งนาและการป้องกัน
2.จงบอกวิธีการจัดการกับกระดาษหรือสมุดเก่าที่ไม่ใช้แล้วของท่านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น